ปี 2024 ตอนนี้ปฎิเสธไม่ได้แล้วว่าการซื้อของออนไลน์เป็นเรื่องปรกติไปแล้ว คนทั่วไปไม่ได้กลัวการซื้อของออนไลน์เหมือน 5-10 ปี ที่แล้ว การซื้อของผ่าน Shopee หรือ Lazada, TikTok ฯลฯ เกิดขึ้นได้ทุกวัน เป็นเรื่องปรกติธรรมดามากๆ
ในช่วงที่ประเทศไทย มีช่องทางการขายของออนไลน์ที่มากมายเหลือเกิน แล้วเหล่าพ่อค้าแม่ค้ามือใหม่ จะเลือกขายของบน Platform ไหนดี ถึงจะเริ่มต้นได้ง่ายและดีที่สุด
จากประสบการณ์การอยู่ในวงการ e-Commerce กว่า 15 ปี วันนี้เราจะมาบอกถึงข้อดีข้อเสียของการขายบน Platform ต่างๆ รวมถึงมีบทสรุปสุดท้ายให้ท่าน ว่าควรเลือกขายสินค้าบนช่องทางไหนถึงจะดีทีสุดมาฝากครับ จะได้เป็นข้อมูลให้ท่านตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ว่าควรจะขายสินค้าบน Platform ไหนดี
1. Shopee
Shopee ถือเป็น Platform ขายสินค้าที่เป็นที่นิยมอันดับ 1 ของไทย โดยคาดการณ์กันว่าปี 2566 (ยังไม่มีงบการเงินออกมา) จะมียอดขายมากกว่า 25,000 ล้านบาท และมีผลกำไรมากกว่า 2,500 ล้านบาท (ปี 2565 ยอดขาย 21,709.72 ล้านบาท กำไร 2,380.27 ล้านบาท) มีผู้ใช้งานหลายล้านคนต่อวัน เหมาะสำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องการเริ่มต้นขายของโดยที่ไม่ต้องสร้างเว็บไซต์หรือร้านค้าออนไลน์เอง มีสินค้าชิ้นเดียวก็เริ่มขายได้
ข้อดี
- มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ ไม่ต้องหาลูกค้าเข้าเว็บเอง
- เปิดร้านง่าย
- มีฟีเจอร์ช่วยส่งเสริมการขายเช่น sPayLater, การผ่อนชำระ, โปรโมชั่นจัดส่งฟรี Shopee Coin
ข้อเสีย
- ผู้ขายเยอะมาก การแข่งขันสูงมาก สุดท้ายอาจแข่งกันที่ราคา ทำให้ต้องลดราคาสินค้าเพื่อแข่งขัน
- มีค่าธรรมเนียมในการขายอยู่ที่ 6% – 8% ซึ่งถือว่าสูงมาก กำไรน้อยลงมาก
- มีการขายตรงสินค้าจากจีน ซึ่งเราสู้ด้านราคาลำบาก
- ควบคุมทุกอย่างเองไม่ได้ เช่น ค่าขนส่ง, หรือวิธีการชำระเงิน, การตกแต่งหน้าร้านทำได้จำกัด
- ผู้ขายใหม่ หากไม่เคยขายมาก่อน ขายสินค้าชิ้นแรกๆ ได้ยากมาก
2. Lazada
Lazada เป็นคู่แข่งที่สูสีกับ Shopee ณ ปี 2566 งบการเงินออกมาแล้ว มียอดขายที่สูสีกับทาง Shopee ที่ระดับ 20,000 ล้านบาทเหมือนกัน ดังนั้นหากพ่อค้าแม่ค้ามือใหม่อยากขายของ Lazada ก็เป็นทางเลือกที่ดี
ข้อดี
- ฐานลูกค้าใหญ่ พอๆ กับ Shopee
- มีการโปรโมตและจัดแคมเปญอย่างต่อเนื่อง คูปองต่างๆ เยอะมาก
- มีระบบจัดการร้านค้าที่ดีและมีเครื่องมือวิเคราะห์การขายที่ค่อนข้างละเอียด
- มีการอบรมสำหรับผู้ขายมือใหม่
ข้อเสีย
- แอปในมือถือ หน้าตาดูยุ่งและใช้งานยากกว่า Shopee
- คนค้าขายเยอะมากและการแข่งขันสูงมากไม่ต่างจาก Shopee
- มีค่าธรรมเนียมในการขายอยู่ที่ 5% – 7% ถูกกว่า Shopee เล็กน้อย
- มีเงื่อนไขและข้อกำหนดในการขายที่เข้มงวด
- PayLater สมัครยาก ลูกค้าส่วนมากผ่อนชำระไม่ได้
3. TikTok
Platform ที่เน้นไปที่ VDO สั้นและการ Live สด โดยการขายสินค้าบน TikTok กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้งานที่เป็นคนรุ่นใหม่ TikTok มีรูปแบบการขายที่เน้นการสร้างเนื้อหาวิดีโอและการโฆษณาที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้รวดเร็ว การขายสินค้าผ่าน TikTok นั้นใช้หลักการของการสร้างเนื้อหาที่ดึงดูดใจ ทำให้สินค้ามีโอกาสเป็นที่รู้จักได้ไวกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ
ข้อดี
- เหมาะสำหรับสินค้าที่ต้องการโปรโมตแบบไวรัล
- ใช้การตลาดเชิงเนื้อหาเพื่อดึงดูดลูกค้า
- ค่าธรรมเนียมถูกกว่า Platform อื่น โดยอยู่ที่ประมาณ 3% – 5%
ข้อเสีย
- ต้อง Live สด ใช้เวลามากในแต่ละวัน ซึ่งการ Live อาจจะมีคนดูน้อย หรือไม่มีเลยก็ได้
- ต้องนำเสนอเนื้อหาเป็น VDO, ต้องตัดต่อเป็น ต้องทำ Content ทำให้ต้องใช้ต้นทุนด้านเวลา และความสามารถมากกว่า Platform อื่น
4. Instagram
เป็น Platform สำหรับโพสรูปและ VDO ที่นิยมในไทยมาหลายปี สามารถติดตามข่าวสารดาราต่างๆ ได้ด้วย หลายคนก็หันมาขายสินค้าทาง Instragram หรือ IG สินค้าที่เป็นที่นิยมจะเป็นพวกเสื้อผ้าหรือสินค้าแฟชั่น
ข้อดี
- เป็นแพลตฟอร์มที่เหมาะกับการขายสินค้าที่เน้นภาพลักษณ์และการมองเห็น เช่น เสื้อผ้า, เครื่องประดับ, สินค้าแฟชั่น
- เหมาะกับการสร้างแบรนด์: คุณสามารถสร้างตัวตนของแบรนด์ผ่านโปรไฟล์ของคุณบน Instagram ได้ง่าย และหากลุ่มลูกค้าได้เฉพาะเจาะจง
- สามารถแชร์โพสหรือ VDO ไปยัง Facebook ได้โดยตรง เพราะเป็นเจ้าของเดียวกัน
ข้อเสีย
- คนไม่คนนิยมดู Live สดผ่าน IG ถึงแม้ IG จะ Live สดได้ คนนิยมดู Live สดใน TikTok มากกว่า ทำให้กลุ่มลูกค้าน้อยลง
- ต้องใช้ภาพถ่ายคุณภาพสูง มีมุมมองที่ดี ถึงจะดึงดูดให้คนซื้อสินค้าได้
- ระบบจัดการการซื้อขายไม่ดี ต้องจัดการการซื้อขายเองผ่านแอปอื่น ทำให้เพิ่มความยุ่งยากให้ผู้ขาย
5. ทำ Salepage
Salepage เป็นเว็บไซต์ขายของหน้าเดียว เหมาะกับการสร้างเว็บไซต์ขายของง่ายๆ ขึ้นมา สำหรับสินค้าไม่กี่ชิ้น เหมาะสำหรับผู้ขายที่ต้องการสร้างแบรนด์ของตัวเอง มีเว็บไซต์ของตัวเอง และไม่ต้องการแบ่งรายได้กับผู้อื่น
ข้อดี
- คุณเป็นเจ้าของเว็บไซต์เอง 100% เพิ่มความน่าเชื่อถือให้แบรนด์ได้
- ควบคุมและลงเนื้อหาเองได้ทั้งหมด รวมถึงกำหนดวิธีการชำระเงินและขนส่งได้ด้วยตัวเอง
- ค่าใช้จ่ายถูก ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม หรือแบ่ง % ให้กับใคร
ข้อเสีย
- ต้องหาลูกค้าเอง ต้องทำ SEO หรือบางครั้งต้องลงโฆษณาก่อน คนถึงจะรู้จักเว็บไซต์ของเรา ควรเป็นช่องทางซื้อขายที่ 2 ต่อจาก Platform อื่น
- ลงสินค้าได้น้อย ส่วนมากไม่เกิน 5-10 รายการ ต่อ 1 Salepage
- ลงขายสินค้าที่ซับซ้อนไม่ได้ เช่น มีการเลือกสี, เลือกไซส์, ออกระบบคูปองไม่ได้หรือโปรโมชั่นซับซ้อนไม่ได้
6. e-Commerce Website
การมีเว็บขายสินค้าของตัวเองเหมือนเว็บใหญ่ๆ เช่น 425deegree.com หรือ Jib.co.th เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ไม่ยากและใช้ทุนไม่ได้สูงมากแล้วในปัจจุบัน ดังนั้นจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่สนใจขายสินค้าออนไลน์
ข้อดี
- คุณเป็นเจ้าของเว็บไซต์เอง 100% เพิ่มความน่าเชื่อถือให้แบรนด์ได้ดีมาก
- คู่แข่งที่ทำเว็บไซต์เองไม่มากนัก ยังมีฐานลูกค้าอีกมาก
- ออกแบบหน้าตาเว็บไซต์ตามใจเราได้ ไม่มีข้อจำกัดเรื่องดีไซต์
- ค่าใช้จ่ายถูก จ่ายครั้งเดียวจบ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม หรือแบ่ง % ให้กับใคร
- ลงสินค้าได้ไม่จำกัด
- ออกโปรโมชั่นได้หลากหลาย โดยเรากำหนดเองได้ ไม่ต้องขึ้นอยู่กับ Platform
- เลือกวิธีการชำระเงิน และขนส่งออกได้
ข้อเสีย
- ต้องหาลูกค้าเอง ต้องทำ SEO หรือบางครั้งต้องลงโฆษณาก่อน คนถึงจะรู้จักเว็บไซต์ของเรา ควรเป็นช่องทางซื้อขายที่ 2 ต่อจาก Platform อื่น
- ค่าใช้จ่ายในครั้งแรกสูงพอสมควร
การจะเลือกขายสินค้าออนไลน์ จะเลือก Platform ไหน ไม่มีการฟันธงว่าตัวไหนดีที่สุด การรู้ข้อดีและข้อเสีย ของแต่ละ Platform จะทำให้คุณสามารถเลือก Platform ที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าของเราได้
การเลือกช่องทางการขายมากกว่า 1 ช่องทาง จะทำให้คุณมีตัวเลือกสำรอง ในกรณีที่ช่องทางการขายช่องทางใดช่องทางหนึ่งเกิดปัญหาขึ้น เช่น ขึ้นค่าธรรมเนียมอย่างมาก หรือมีการแข่งขันดุเดือดด้านราคาจนยอดขายช่องทางนั้นลดลง